นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตรปลัดกระทรวงพาณิชย์และคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ลงนามถวายพระพร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย ผู้บริหาร ข้าราชการ จิตอาสาพระราชทาน กระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมกิจกรรม “พาณิชย์..จิตอาสา สานฝันปันสุขให้น้อง” มอบอุปกรณ์กีฬาและอุปกรณ์สนับสนุนการศึกษา ให้แก่โรงเรียนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนศรีบุณยานนท์, โรงเรียนทับทิมสยาม 05, โรงเรียนบ้านไร่ป้า, โรงเรียนบ้านตากประถมวิทยา, โรงเรียนบ้านนาตาโพ, โรงเรียนบ้านนาอุดม, โรงเรียนบ้านห้วยทราย, โรงเรียนบ้านขอนแป้น, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านคอแลน, และโรงเรียนบ้านต้นหยี วันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2563 เวลา 13.30 น. ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ให้เกียรติเป็นประธานและมอบนโยบายในกิจกรรมการอบรมให้ความรู้ หัวข้อ “กฎหมายว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดของพนักงานในหน่วยงานของรัฐ” วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2563 ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
17 ธันวาคม 2563 เวลา 8.00 น.นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 งวดที่ 6 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ตามนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือโครงการประกันรายได้ชาวนาปี2 โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยทางกระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 งวดที่ 6 สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 7-13 ธันวาคม 2563 ดังนี้คือ
1.ข้าวเปลือกหอมมะลิ เกณฑ์กลางตันละ 12,212.42 บาท ชดเชยตันละ 2,727.58 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 38,186.12 บาท
2.ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ เกณฑ์กลางตันละ 11,800.74 บาทชดเชยตันละ 2,199.26 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 35,188.14 บาท
3. ข้าวเปลือกเจ้า เกณฑ์กลางตันละ 9,215.15 บาท ชดเชยตันละ 784.85 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 23,545.50 บาท
4.ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี เกณฑ์กลางตันละ 10,182.17 บาท ชดเชยตันละ 817.83 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 20,445.75 บาท
5.ข้าวเปลือกเหนียว เกณฑ์กลางตันละ 11,246.87 บาท ชดเชยตันละ 753.13 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 12,050.080 บาท
นางมัลลิกา กล่าวว่า จากประกาศนี้นายจุรินทร์ให้แจ้งเกษตรกรทราบทั่วกัน ทั้งนี้ขั้นตอนจากนี้คือกรมส่งเสริมเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส. จะประสานงานกันโดยขั้นตอนสุดท้ายคือ ธ.ก.ส.มีหน้าที่โอนเงินส่วนต่างให้กับบัญชีเกษตรกรโดยตรงซึ่งจะต้องภายใน 3 วันทำการจะตรงกับวันนี้ วันที่ 17 ธันวาคม 2563 โดยมีเกษตรกรได้รับชดเชยตามข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร งวดนี้จำนวน 74,497 ครัวเรือน ทั้งนี้เกษตรกรกลุ่มนี้สามารถตรวจสอบบัญชีหลังวันนี้ที่ 17 ได้เลย
" อย่างไรก็ตามตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมาเราได้จ่ายเงินประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวไปช่วยเกษตรกรชาวนาแล้วเกือบ 4 ล้านราย ขณะนี้ยังคงเหลือชาวนาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวอีกไม่กี่หมื่นรายซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนาภาคอีสาน โดยสัปดาห์หน้าก็จะประกาศราคาเกณฑ์กลางอีกและจ่ายเงินในกลุ่มต่อไปให้ทันได้ใช้เงินส่งท้ายปีจากนั้นจะเป็นต้นปีหน้า เป็นงวดชาวนาบางส่วนในพื้นที่ภาคใต้กว่า 3 แสนรายเท่านั้น และเพื่อดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้สูงขึ้นจึงมีการพิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงทุกสัปดาห์ โครงการประกันรายได้เกษตรกรมีเงินส่วนต่างถึงมือเกษตรกรเต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่หายหกตกหล่นเพราะผ่านบัญชีโดยตรงของเกษตรกรเองจึงเป็นโครงการที่ชาวนาประทับใจรัฐบาลอย่างยิ่งขณะนี้เรายังเดินหน้าโครงการต่อไป" นางมัลลิกา กล่าว
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล พิธีวางพานพุ่มและพิธีถวายบังคม และจุดเทียนมหามงคล เนื่องในวันคล้าย วันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2563
วันที่ 6 ธันวาคม 2563 เวลา 10.00 น. ที่ สนามบินหาดใหญ่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ประเด็นลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม
นายจุรินทร์กล่าวว่า วันนี้ผมมาในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มาเยี่ยมพื้นที่น้ำท่วมเพราะพี่น้องประชาชนชาวภาคใต้หลายจังหวัดประสบภัยน้ำท่วมและได้รับความเดือดร้อนมาก สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการกำชับให้บุคลากรของพรรคทั้ง 2 ส่วนทั้งส่วนที่อยู่ในคณะรัฐบาลเช่น รัฐมนตรีต่างๆได้ลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมพื้นที่และขณะเดียวกันก็ไปร่วมแก้ปัญหาและส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชน ก่อนหน้านี้ทางรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านนิพนธ์ บุญญามณี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านถาวร เสนเนียม ได้ลงพื้นที่ไปก่อนหน้านี้หลายวัน วันนี้ได้มีโอกาสมาลงพื้นที่พบปะกับผู้ประสบภัยและเป็นกำลังใจให้ รวมทั้งมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่จังหวัดพัทลุงและนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุงไปที่อำเภอกงหรา อำเภอเมืองและพื้นที่อื่นๆ จังหวัดนครศรีธรรมราชไปที่อำเภอทุ่งสงและพื้นที่อื่นๆ สำหรับสิ่งของที่จะมอบได้นำถุงยังชีพจากมูลนิธิหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ประมาณ 5,000 ชุด ก่อนหน้านี้มูลนิธิหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ได้จัดถุงยังชีพไปแล้ว 15,000 ชุดให้ผู้แทนราษฎรของพรรคไปช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่จนถึงขณะนี้จัดไปแล้ว 20,000 ชุด พรรคจะกำชับให้รัฐมนตรีของพรรคกับผู้แทนราษฎรของพรรคได้ลงพื้นให้ช่วยพี่น้องประชาชนซึ่งได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้วและดำเนินการต่อไปโดยต่อเนื่องจนกว่าทุกข์ของพี่น้องชาวใต้จะหมดสิ้นไป
7 ธันวาคม 2563 เวลา 9.30 น.
กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กับ สถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนากระบวนการระงับข้อผิดพลาดด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นสักขีพยานทั้งนี้เป็นความร่วมมือในการพัฒนาระบบระงับข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ หรือ Online Dispute Resolution ( ODR ) ความร่วมมือนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกกับผู้ประกอบการในการไกล่เกลียข้อพิพาทและลดจำนวนคดีขึ้นสู่ศาล
โดยนายจุรินทร์ กล่าวให้นโยบายว่า ทรัพย์สินทางปัญญาถือว่ามีความสำคัญมีบทบาทในการพัฒนาการค้าทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์และบริการสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจมาตลอดโดยต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับในกระบวนการเศรษฐกิจของโลกแต่เกิดการละเมิดขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการค้าโดยไม่สุจริต เกิดข้อพิพาททางทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นมามากขึ้นในเชิงปริมาณโดยต่อเนื่องและมีการนำคดีข้อพิพาทต่างๆขึ้นสู่ศาลทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้นเพื่อไม่ให้คดีทรัพย์สินทางปัญญาเข้าศาลมากโดยไม่จำเป็นกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้นำกระบวนการอนุญาโตตุลาการและกระบวนการไกล่เกลี่ยละงับข้อพิพาทมาใช้ ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดผลทำให้การเจรจาตกลงนั้นเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วและเป็นที่ยอมรับของผู้พิพาทและเป็นกระบวนการที่เป็นที่ยอมรับของกระบวนการทรัพย์สินทางปัญญาของโลก
กระทรวงพาณิชย์จึงปรับใช้ออนไลน์ซึ่งเป็นนโยบายเพื่อการลดขั้นตอนใช้เวลาให้สั้นที่สุดสำหรับประชาชนที่มารับบริการจากรัฐ เป็นการตอบโจทย์ผู้ประกอบการยุคสังคมดิจิทัล และที่ผ่านมากรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ รับเรื่องข้อพิพาทของประชาชนทั้งหมด 621 เรื่อง สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและอนุญาโตตุลาการเข้ามาให้บริการแก่ประชาชนสำเร็จ 331 เรื่องคิดเป็น 54% ของข้อพิพาททั้งหมด และนับจากนี้ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการนำระบบออนไลน์มาปรับใช้ในการระงับข้อพิพาททั้งนี้เพื่อปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยทันใจประชาชนมากขึ้น ซึ่งข้อตกลงผ่านระบบออนไลน์จะทำให้ประชาชนได้รับบริการอย่างสะดวกรวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดการเผชิญหน้าของคู่กรณี
ด้านนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ระบบระงับข้อพิพาทออนไลน์เป็นระบบการระงับข้อพิพาทสมัยใหม่ที่ทําให้การระงับ ข้อพิพาทเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง ทําให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาสามารถเข้าถึงกระบวนการระงับข้อพิพาทได้โดยง่าย สะดวกเพราะสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา และยังประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งประหยัดเวลาในการเดินทางอีกด้วย ซึ่งผมเชื่อว่าระบบการระงับข้อพิพาทออนไลน์สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้เป็นอย่างดีและยังแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองต่อนโยบาย 4.0 ของรัฐบาลที่ให้ความสําคัญกับการพัฒนาและการนําเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ด้านธุรกิจการค้าและการลงทุน และเมื่อโลกเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางความคิดในทุกภาคส่วนจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะภาครัฐที่จะมีการนําเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้เป็นเครื่องมือที่สําคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ
" ขอขอบคุณกระทรวงพาณิชย์และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่เห็นถึงความสําคัญของระบบการระงับข้อพิพาทออนไลน์ และหวังว่าระบบระงับข้อพิพาทดังกล่าวจะช่วยให้การบริการแก่ประชาชนของกรมทรัพย์สินทางปัญญามีความสะดวก รวดเร็ว มีความทันสมัยและสามารถส่งเสริมให้ระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย เจริญก้าวหน้าต่อไป " นายสมศักดิ์ กล่าว
และรายงานจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ทั้งนี้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้นับแต่เดือน มกราคม 2564 เป็นต้นไปซึ่งนายจุรินทร์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบเป็นของขวัญปีใหม่จากกระทรวงพาณิชย์ให้แก่ประชาชน โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ https://thac.go.th และสามารถศึกษาขั้นตอนการดำเนินการได้ที่เว็บไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา www.ipthailand.go.th
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม 2563 ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ ชั้น 3 สโมสรทหารบก วิภาวดีฯ กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงาน ที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้ได้รับโล่รางวัลรัฐบาลดิจิทัลระดับหน่วยงาน โดยนางเดือนเพ็ญ กรองมาลัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นผู้แทนกระทรวงฯ เข้ารับมอบรางวัล พร้อมทั้งร่วมออกบูธนิทรรศการเพื่อแสดงผลงานด้านรัฐบาลดิจิทัลที่โดดเด่นของกระทรวงพาณิชย์
วันที่ 1 ธันวาคม2563 เวลา 9.30 น.
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ลงนามนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้โดยขอเพิ่มวงเงินงบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 โดยกระทรวงพาณิชย์จะขอวงเงินเพิ่มเติมอีก จำนวน 28,711 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลได้จ่ายให้กับชาวนาไปแล้วจำนวน 18,096 ล้านบาท เริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.2563 เป็นต้นมาแล้วสำหรับงวดแรกและงวดต่อไปก็จะจ่ายทุกสัปดาห์ดังนั้นรอบต่อไปจะเป็นวันที่ 7 ธันวาคม 2563 ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยเกษตรกรจะได้ส่วนต่างสูงสุดคือ 40,000 บาท จากการปลูกข้าวหอมมะลิ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ส่วนเงินช่วยสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพข้าว ไร่ละ 1,000 บาทสูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งเกษตรกรจะได้สูงสุดรายละ 20,000 บาทนั้น จะจ่ายให้ครึ่งหนึ่งก่อนซึ่งเป็นเงินไร่ละ 500 บาทโดยจะเริ่มจ่ายวันที่ 1-5 ธ.ค. นี้ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรชาวนาผู้ปลูกข้าวที่รออยู่ได้รับทราบ สำหรับโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนั้น ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 63 วงเงิน 28,046 ล้านบาท โดยจะจ่ายผ่านบัญชีชาวนาโดยตรงตั้งแต่วันที่ 1-5 ธ.ค. 2563 จำนวนเกษตรกรได้รับประโยชน์ประมาณ 4.35 ล้านครัวเรือน
" โครงการนี้เป็นมาตรการเสริมและคู่ขนานกับโครงการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งนอกเหนือจากโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพข้าวนี้แล้ว รัฐบาลยังมีมาตรการคู่ขนานอย่างอื่น เช่น โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก เป็นต้น " นายจุรินทร์ กล่าว
ส่วนเรื่องมันสำปะหลัง นายจุรินทร์ ระบุว่า จะจ่ายเงินส่วนต่างวันแรกคือวันนี้(วันนี้ 1 ธ.ค. 2563 ) เป็นวันจ่ายเงินโอนเข้าบัญชีให้เกษตรกรมันสำปะหลังโดยตรง ซึ่งเงินส่วนต่างงวดนี้จะได้ 26 สตางค์ต่อกิโลกรัม และเกษตรกรที่ได้สูงสุดคือประมาณ 26,000 บาท เนื่องจากประกันรายได้ไว้ที่กิโลกรัมละ 2.50 บาทไม่เกิน 100 ตัน
30พฤศจิกายน 2563
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 18สิงหาคม 2563อนุมัติให้เดินหน้าโครงการประกันรายได้มันสำปะหลังปีที่2วงเงินงบประมาณ 9,788ล้านบาท โดยเกษตรกรมันสำปะหลังได้รับประโยชน์ 5.24แสนครัวเรือน ช่วงแจ้งเพาะปลูกคือ 1เมษายน 2563ถึง 31มีนาคม 2564โดยประกันรายได้ที่ราคาเป้าหมายกิโลกรัมละ 2.50บาทไม่เกินครัวเรือนละ 100ตันหรือคิดเป็น 100,000กิโลกรัม โดยโครงการประกันรายได้เกษตรกรเดินหน้าต่อเนื่องเป็นปีที่2ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงนโยบายนี้รัฐสภาตั้งแต่วันที่ 25กรกฎาคม 2562เป็นต้นมานับจากการร่วมรัฐบาลด้วยเงื่อนไขนี้เพื่อเหลือช่วยเกษตร
นางมัลลิกา กล่าวว่า นายจุรินทร์มีเรื่องแจ้งเกษตรกรด้วยความห่วงใยเพราะเป็นห่วงเรื่องการเข้าถึงและรับรู้ด้านข้อมูลข่าวสารจึงขอแจ้งให้ทราบว่าเมื่อวันที่ 26พ.ย.2563ที่ผ่านมานายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม รองอธิบดี รักษาการอธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ได้เห็นชอบการกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2563/64งวดที่ 1ซึ่งเป็นงวดแรกของโครงการประกันรายได้มันสำปะหลังปี 2โดยจะชดเชยส่วนต่างให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรและระบุวันเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1เม.ย.2563และระบุวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 1ธ.ค.2563ในราคากิโลกรัม ละ 0.26บาท ซึ่งเป็นส่วนต่างจากราคาเป้าหมายที่กำหนดประกันรายได้ไว้ที่ 2.50บาทต่อกิโลกรัมโดยราคาตลาดหัวมันสำปะหลังสดเชื้อแป้ง 25%ขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่กก.ละ 2.24บาท จึงมีส่วนต่าง 26สตางค์นั่นเอง
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ทั้งนี้การจ่ายเงินส่วนต่างรัฐบาลจะจ่ายทุกวันที่ 1ของเดือน เป็นเวลา 12เดือน โดยจะจ่ายงวดแรกในวันที่ 1ธ.ค.2563ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง โดยเกษตรกร 1ครัวเรือน จะใช้สิทธิได้ 1ครั้งและการคำนวณผลผลิตที่จะได้รับการชดเชย ได้ใช้ปริมาณผลผลิตต่อไร่ย้อนหลัง 3ปี (ปี 2560/61ปี 2561/62และปี 2562/63) ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะได้เท่ากับ 3,419กก.ต่อไร่ เมื่อคูณด้วยจำนวนไร่ตามที่เกษตรกรได้ขึ้นทะเบียนไว้แต่การจ่ายประกันรายได้ต้องไม่เกินครัวเรือนละ 100ตัน
" ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงขณะนี้ 2.24 บาทต่อกิโลกรัม แต่รัฐบาลประกันรายได้ไว้ที่ราคาเป้าหมาย 2.50 บาทต่อกิโลกรัมทำให้ต้องชดเชยส่วนต่างแก่เกษตรกร 0.26 บาทต่อกิโลกรัม รัฐบาลการประกันรายได้ไว้ให้ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน หรือ 100,000 กิโลกรัม ดังนั้นเกษตรกรมันสำปะหลังที่เก็บเกี่ยวขอบนี้คือเกษตรกรที่ระบุวันเพาะปลูกตั้งแต่ 1 เม.ย.63 และคาดว่าจะเก็บเกี่ยวก่อน 1 ธ.ค.63 โดยจะจ่ายในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ จะได้รับสิทธิ์ชดเชยสูงสุด 26,000 บาท หากมีข้อสงสัยให้ประสานงานสำนักงานพาณิชย์ทุกจังหวัดหรือกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จึงขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน " นางมัลลิกา กล่าว
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตร หลักสูตร “ข้าราชการที่ดี” รุ่นที่ 31 ปีงบประมาณ 2564 ณ กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ณ กระทรวงพาณิชย์
กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกองทัพบก โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ประสานความร่วมมือทำบันทึกข้อตกลงขับเคลื่อนนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ ภาคการเกษตรไทย เพื่อไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลกภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในภาคการเกษตร เพราะความมั่นคงด้านอาหารถือเป็นหัวใจสำคัญของทุกประเทศที่ต้องจัดหาอาหารให้เพียงพอแก่ความต้องการของประชาชน ซึ่งประเทศไทยถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรแหล่งใหญ่ของโลก
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการกำหนดนโยบายในภาคการเกษตรโดยความร่วมมือของสามฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร โดยวางเป้าหมายให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก ด้วยการกำหนดวิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ภายใต้ยุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิต ซึ่งหน่วยงานขับเคลื่อนหลักในการผลิต ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ และได้เซ็นแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินยุทธศาสตร์ทางด้านนี้ร่วมกันทั้งสองกระทรวงมาแล้ว และวันนี้เป็นโอกาสดีที่ทางกองทัพบกจะได้มาเป็นความร่วมมือทั้งหมดจะเป็นโอกาสของเกษตรกรไทยทั้งเรื่องของการนำรายได้เข้าประเทศและการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจฐานราก
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร กล่าวว่า ภายใต้แนวคิด “เกษตรทฤษฎีใหม่” เช่น เกษตรปลอดภัย เกษตรนวัตกรรม ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เป็นไปตามมาตรฐานสากล ส่วนกระทรวงพาณิชย์มีบทบาทในการเชื่อมโยงสินค้ากับตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยมีพาณิชย์จังหวัด รับบทเป็นเซลล์แมนจังหวัด ทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงโดยใช้กลไกตลาดต่าง ๆ ทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์ และตลาดรูปแบบใหม่ ๆ ในลักษณะตลาดไฮบริด ระบบเคาเตอร์เทรด เชื่อมโยงระหว่างภาคความต้องการและ ภาคการผลิต ในขณะที่ทูตพาณิชย์ทั่วโลกเป็นเซลล์แมนประเทศผลักดันสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลก โดยมุ่งเน้นการแสวงหาตลาดใหม่ ๆ แต่ยังคงต้องรักษาฐานตลาดเดิม ต่อไปหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรจะใช้ฐานข้อมูลกลางมีระบบการผลิตที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงการค้าเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรในภาคการเกษตรในทุกมิติเพื่อดำเนินการดังกล่าวได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต มีปลัดกระทรวงพาณิชย์และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในเรื่องของการลดต้นทุนการจัดหาเมล็ดพันธุ์ ท่อนพันธุ์ต่างๆ รวมถึงการสื่อสารไปยังภาคการผลิตภาคการค้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า กองทัพบกได้เข้ามามีส่วนร่วมที่จะช่วยกันขับเคลื่อนการดำเนินยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตภายใต้นโยบายเกษตรผลิต โดยกองทัพบกจะนำที่ดินว่างเปล่าจำนวนถึง 4.5ล้านไร่ ภายใต้ความดูแล รวมทั้งกำลังพล อุปกรณ์ และเครื่องมือต่าง ๆ มาพัฒนาพื้นที่ เพื่อรองรับการผลิต และการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ กิ่งพันธุ์ เพื่อสนับสนุนภาคการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญของประเทศตามความต้องการของตลาด รวมทั้งสนับสนุนการผลิตสื่อต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง Social Media เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชน และประชาสัมพันธ์ด้านการตลาดอย่างกว้างขวางและทั่วถึง ผ่านช่องทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานสื่อของกองทัพบกที่สามารถเข้าถึงประชาชนในระดับชุมชนได้เป็นอย่างดี จึงได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกเพื่อขับเคลื่อนต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ผู้บัญชาการทหารบก ร่วมเป็นสักขีพยาน การทำบันทึกข้อตกลงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างกองทัพบก กระทรวงพาณิชย์ กับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาภาคการเกษตรแบบครบวงจร จากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์และกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์รับนโยบายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ติดตามตรวจสอบการติดป้ายราคาในโครงการพาณิชย์ลดราคา!ช่วยประชาชน Lot7 หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ร่วมมือกับผู้ประกอบการทุกภาคส่วนนำลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงสุด 70% จำนวน 13,790 รายการระหว่างวันที่1- 30 พฤศจิกายน 2563 ทั้งนี้เพื่อบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น
นางมัลลิกา กล่าวว่า หลังจากดำเนินโครงการมาระยะหนึ่งได้รับรายงานว่าประชาชนให้ความสนใจอย่างมากในทุกจังหวัด ระหว่างนี้ ได้ให้ทุกสำนักงานพาณิชย์จังหวัดและกรมการค้าภายในติดตามนโยบายอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะการติดป้ายราคาตามห้างสรรพสินค้าร้านค้าปลีกค้าส่ง ห้างท้องถิ่นที่ประกาศร่วมโครงการไปแล้วโดยต้องลดราคาและแสดงป้ายลดราคาอย่างชัดเจนให้ประชาชนสังเกตได้ตรวจสอบราคาได้ขณะนี้ได้เร่งรัดให้ประชาสัมพันธ์ของสำนักงานพาณิชย์แต่ละจังหวัดได้ประสานการประชาสัมพันธ์จังหวัดเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนรับรู้ไม่ให้เสียโอกาสในโครงการนี้ และขณะนี้พาณิชย์ทุกจังหวัดได้จัดตั้งกลุ่ม LINE Lot7 รายงานสถานการณ์การติดป้ายราคาและการลงพื้นที่สำรวจทุกห้างสรรพสินค้า รวมทั้งผู้ผลิตและจำหน่าย ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง ห้างท้องถิ่นทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด
" ประชาชนผู้บริโภค จะได้ประโยชน์โดยการลดค่าครองชีพอย่างเต็มที่ในช่วงใกล้ส่งท้ายปีซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็จะมีข่าวดีช่วยประชาชนออกมาเรื่อยๆ หากมีปัญหาเรื่องป้ายราคาหรือสินค้าลดราคาไม่ตรงตามที่ประกาศไว้สามารถโทรสายด่วนได้ที่ 1569 กรมการค้าภายใน หรือสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพาณิชย์แต่ละจังหวัด " นางมัลลิกา กล่าว
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 เวลา 10.30 น.
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจา ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา เขตดุสิต กรุงเทพมหานครโดยเป็นการทำหน้าที่ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เกี่ยวกับราคาข้าวตกต่ำ
นายจุรินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเกษตรกร รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกข้าว สำหรับข้าวอยากเห็นข้าวมีราคาดีแต่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเพียงอย่างเดียวขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิต และความต้องการในแต่ละปีด้วย และในปีการผลิตที่ผ่านมาเป็นยุคหนึ่งในรอบ 10 ปี ที่ราคาข้าวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึงเกวียนละ 10,000 บาท สำหรับข้าวเปลือกเจ้า เพราะหลายมาตรการของรัฐบาลประกอบกับกลไกตลาดในช่วงเวลานั้น แต่สำหรับภาพรวมผลผลิตปี 2563 มากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 6 และช่วงนี้ที่ราคาข้าวอ่อนลงเนื่องจากเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมของทุกปีผลผลิตข้าวจะออกมากและจะมีผลกระทบเช่นนี้ทุกปี ประกอบกับโรงสีได้ซื้อข้าวเก่าเก็บไว้ในราคาสูง และยังไม่สามารถระบายออกได้ แล้วก็ขาดสภาพคล่อง รัฐบาลจึงจะออกมาตรการหลายมาตรการในการช่วยดึงราคาในตลาด 1.ชะลอขายโดยทางเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกร ชะลอขายข้าวเก็บไว้ มีเงินช่วยเหลือสนับสนุน ตันละ 1,500 บาท 2.ถ้าเป็นสหกรณ์และโรงสีเก็บข้าวไว้ รัฐบาลจะช่วยดอกเบี้ยร้อยละ 3 และธ.ก.ส.มีมาตรการในการให้สินเชื่อกับโรงสีเป็นกรณีพิเศษตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน เพื่อซื้อข้าวมาเก็บไว้ลดปริมาณข้าวในตลาด โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 และรัฐบาลมีสินเชื่อ SME ด้านการเกษตรโดยให้โรงสีสามารถกู้ในวงเงินถึงรายละ 20 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 เป็นต้น
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สัปดาห์นี้กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในจะเชิญธนาคารพาณิชย์และแบงค์ชาติมาหารือในการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆในการปล่อยสินเชื่อให้กับโรงสีในการที่จะไปเร่งรับซื้อข้าวจากเกษตรกร แต่ไม่ว่าพืชเกษตรตัวใดใน 5 ตัว ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถ้าราคาลดลงมาจากรายได้ที่ประกันไว้ รัฐบาลยังมี "นโยบายประกันรายได้เกษตรกร" เป็นตัวช่วยสำคัญที่ช่วยให้ชาวนาผู้ปลูกข้าวสามารถมีรายได้ตามรายได้ที่ประกันไว้ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดภูเก็ตให้เริ่มต้นนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในฤดูการผลิตปีนี้
" โดยคณะอนุกรรมการได้เคาะเงินส่วนต่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว รายได้ที่ประกันและเงินส่วนต่างที่เกษตรกรจะได้รับนั้น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ประกันรายได้ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ได้ส่วนต่างตันละ 2,911 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ประกันรายได้ตันละ 14,000 บาท ส่วนต่างตันละ 2,137 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ประกันรายได้ตันละ 10,000 บาท ส่วนต่างตันละ 1,222 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ประกันรายได้ตันละ 11,000 บาทส่วนต่างตันละ 1,066 บาท ข้าวเหนียวประกันรายได้ตันละ 12,000 บาท ส่วนต่างตันละ 2,084 บาท
สำหรับการจ่ายเงินงวดแรกวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 นี้ จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวแต่ละชนิดรับเงินส่วนต่างสูงสุด ถ้าปลูกข้าวเปลือกหอมปทุมธานี จะได้รับเงินส่วนต่างสูงสุดถึง 26,674 บาท ข้าวเหนียวจะได้รับเงินส่วนต่างสูงสุด 33,349 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ได้รับเงินส่วนต่างสูงสุด 36,670 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ได้รับเงินส่วนต่างสูงสุด 34,199 บาท และข้าวหอมมะลิจะได้รับเงินส่วนต่างสูงสุดถึง 40,756 บาท ต่อครัวเรือนจะเป็นตัวช่วยจากนโยบายประกันรายได้ของรัฐบาล" นายจุรินทร์ กล่าว
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้รัฐบาลมีเงินช่วยพิเศษสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เรียกว่า เงินค่าพัฒนาคุณภาพข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่ จะได้รับครัวละไม่เกิน 20,000 บาท โดยแบ่งเป็น 2 งวด งวดที่ 1 ได้รับ 500 บาท งวดต่อไป 500 บาทจะช่วยชาวนาเพื่อลดปัญหารายได้ลดลงถ้าอยู่ในช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำ ส่วนมาตรการระยะยาวรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการเข้าไปดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยใช้ยุทธศาสตร์ข้าวไทย 5 ปี ตั้งแต่ปี 63-67โดยยุทธศาสตร์ข้าวกำหนดยุทธศาสตร์วิสัยทัศน์ไว้ชัดเจนว่า ใน 5 ปีเราจะทำให้ไทยเป็นผู้นำการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลกโดยเน้นข้าว 7 ชนิด ประกอบด้วยข้าวหอมมะลิข้าวหอมไทย ข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง ข้าวนึ่ง ข้าวเหนียว ข้าวสี และข้าวคุณลักษณะพิเศษ โดยเน้นตลาด 3 ตลาดคือ ตลาดพรีเมียม ตลาดทั่วไปและตลาดเฉพาะ และที่สำคัญถ้าการผลิตมีเป้าหมายชัดเจนใน 5 ปี จะลดต้นทุนการผลิตให้ข้าวจากไร่ละ 6,000 บาท เป็นไม่เกิน 3,000 บาทต่อไร่ และจะมีเป้าหมายเพิ่มผลผลิตจากไร่ละ 465 กิโลกรัม เป็นไร่ละ 600 กิโลกรัมต่อไร่ ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนช่วยให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น และจะมุ่งเน้นในการเพิ่มพันธุ์ข้าวใหม่ให้ได้ 12 พันธุ์ ภายใน 5 ปี และมุ่งเน้นในการประกวดพันธุ์ข้าวไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้งเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ไปแข่งกับประเทศอื่นในตลาดโลกได้ต่อไป
" ขอให้เพื่อนสมาชิกสบายใจหัวใจเราตรงกัน เป็นผู้แทนราษฎรเช่นเดียวกัน เราเห็นใจและให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรไม่ว่าจะปลูกอะไรก็ตาม" นายจุรินทร์ กล่าว
วันที่ 9พฤศจิกายน 2563เวลา 12.00น. ห้องกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงถึงยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ รองรับหลังการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยนายจุรินทร์ ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามมาโดยตลอดร่วมกับภาคเอกชน เพราะมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาในช่วงปีที่ผ่านมา (2562) สหรัฐฯเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4ของประเทศไทย รองจาก อาเซียน จีน และญี่ปุ่น และในปี 2563มูลค่าการค้าไทยสหรัฐเดือนมกราคมถึงกันยายน มีมูลค่า 1.16ล้านล้านบาท ดังนั้นจากลำดับที่ 4มาเป็นลำดับที่ 2รองจากอาเซียน ส่วนตัวเลขการส่งออกไทยไปสหรัฐฯเดือนมกราคมถึงกันยายน รวม9เดือนแรกของปี มีมูลค่าการค้า 7.9แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.7ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย เป็นบวกร้อยละ 7.4เฉพาะเดือนกันยายนปี 2563เป็นบวกถึงร้อยละ 19.7โดยมีสินค้า 4กลุ่มหลักเป็นตัวสำคัญประกอบด้วย อิเล็คทรอนิกส์ อาหาร เครื่องตกแต่งบ้านของใช้ในบ้าน อุปกรณ์วัสดุทางการแพทย์ เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น
นายจุรินทร์ กล่าวว่า เมื่อผลการเลือกตั้งเป็น "โจ ไบเดน"นั้น เราคาดว่า เรื่องที่ยังคงอยู่ คือ 1.สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ แต่อาจผ่อนปรนลง 2.เรื่องอินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ กลุ่มประเทศมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิคของสหรัฐฯ น่าจะยังอยู่โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศอินโดแปซิฟิก 3.คาดว่าการใช้เงื่อนไขการให้ฝ่ายเดียวทางการค้าหรือสิทธิพิเศษทางการค้าของสหรัฐน่าจะยังคงอยู่ เช่น GSP หรือการจัดการกับการทุ่มตลาด และเซฟการ์ด แต่ขั้นตอนและรูปแบบอาจมีความผ่อนปรนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า คาดว่า "โจ ไบเดน" จะมีความแตกต่างจากช่วงประธานาธิบดีทรัมป์ คือ 1.คาดว่าสหรัฐจะให้ความสำคัญกับการเจรจาทางการค้าในรูปแบบพหุภาคีมากขึ้น เช่น ผ่านองค์การการค้าโลก (WTO)มากขึ้น และที่ต้องจับตาการกลับมาใช้ CPTPP โดยอาจเพิ่มการทำข้อตกลงทางการค้าใหม่ เช่น FTA กับประเทศต่างๆ และเงื่อนไขสิ่งแวดล้อม แรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิมนุษยชน มาเป็นเงื่อนไขต่อรองหรือเจรจาทางการค้ามากขึ้นในภาพรวมคิดว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมของการค้าโลก ที่ผ่อนปรนขึ้นซึ่ง ประเทศไทยจะมีผลในทางบวกร่วมกันด้วย ซึ่งวันนี้คาดการณ์ว่าวัตถุดิบที่ไทยจะส่งไปจีนเพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐอาจจะมีโอกาสเป็นไปได้มากขึ้น หากสงครามการค้าผ่อนคลายลงไทยก็จะได้รับประโยชน์ส่วนนี้ด้วย หรือประเทศไทยอาจจะใช้วิธีพหุภาคีเพื่อเจรจาต่อรองทางการค้าได้มากขึ้น
" โดยตนให้กระทรวงพาณิชย์ ต้องเดินหน้าทำงานร่วมกับภาคเอกชนโดยใกล้ชิดต่อไปในรูปแบบ กรอ.พาณิชย์ ให้ร่วมมือกับอาเซียนใกล้ชิดยิ่งขึ้นเพื่อเจรจาต่อรองทางการค้าร่วมกัน และปรับรูปแบบการเจรจาทางการค้าเป็นอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ให้ความสำคัญแพลตฟอร์มของสหรัฐเช่น Amazon โดยต้องเปิดห้องหรือร้านในนั้นมากขึ้น " นายจุรินทร์ กล่าว
รายงานของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐจะลดความแข็งกร้าวลง ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสามารถเจรจาทางการค้าแบบฉันมิตรกับสหรัฐได้มากขึ้น รวมทั้งไทยอาจพิจารณาเข้าร่วมเวทีการเจรจา FTA ใหม่ๆที่มีสหรัฐฯร่วมอยู่ด้วย เรื่องสงครามการค้าจะยังอยู่แต่ไทยยังมีโอกาสส่งสินค้าไทยทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯและสินค้าสหรัฐฯในตลาดจีนได้ และไทยอาจจะได้รับนักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตมายังไทยเพิ่มมากขึ้น ส่วนประเด็นการปฏิรูป WTO โดยสหรัฐจะให้ความสำคัญกับระบบพหุภาคีและกฎระเบียบทางการค้ามากขึ้น ซึ่งจะทำให้กลไก WTO เดินหน้าต่อได้ ทั้งการเลือกตั้งผู้อำนวยการใหญ่ และการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อไทย และการทบทวนสิทธิ GSP ที่สหรัฐจะให้ความสำคัญกับมาตรฐาน สิ่งแวดล้อม แรงงาน สิทธิมนุษยชนมากขึ้น ซึ่งไทยต้องเร่งปรับตัว เพื่อสร้างโอกาสในการเจรจาทบทวนการคืนสิทธิ GSP ให้ไทยด้วย
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิดมหกรรมการเงินเชียงใหม่ คร้ังที่ 15 MONEY EXPO CHIANGMAI 2020ณ เวทีพิธีเปิดเชียงใหม่ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่ แอร์พอร์ต โดยมี นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานจัดงานมหกรรมการเงิน Money Expo ร่วมด้วย
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับงานนี้วารสารการเงินธนาคารได้จัดขึ้นในวันนี้ ภายใต้แนวคิด “Wealth Being” เปิดโอกาสให้นักธุรกิจ SME และ Micro SME ของภาคเหนือ รวมทั้งเกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนที่มีประสิทธิภาพและมีความหลากหลาย สามารถเลือกเครื่องมือทางการเงินการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อการลงทุนขยายกิจการและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน
"มั่นใจว่างานนี้จะส่งผลให้ GDP ของประเทศและภาคเหนือมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญงาน MONEY EXPO CHAINGMAI ครั้งนี้มีการให้ความรู้ทางการเงิน นวัตกรรมทางการเงิน การลงทุน ต่อผู้ที่สนใจและผู้เข้าร่วมงานส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถวางแผนบริหารจัดการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการประกอบธุรกิจต่อไป ขอชื่นชมวารสารการเงินธนาคาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้จัดงานมหกรรมการเงินนี้ขึ้น" นายจุรินทร์ กล่าว
รายงานจากผู้เข้าร่วมงาน ระบุว่า งานนี้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่มุ่งกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และกระจายรายได้ไปยังกลุ่มคนต่างๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ประชาชน นักลงทุน ยังสามารถเลือกเครื่องมือการเงินการลงทุนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของตนเอง และมีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสกับนวัตกรรมทางการเงินการลงทุนใหม่ๆ ที่ช่วยทำให้การดำเนินชีวิตง่ายและสะดวกขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วารสาร การเงินธนาคาร ในเครือ บริษัท มีเดีย แอสโซซิเอ็ดเต็ด จำกัด ผู้จัดงาน มหกรรมการเงิน MONEY EXPO งานมหกรรมการเงินการลงทุนครบวงจรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศและในภูมิภาค ครั้งนี้เป็นโอกาสครบรอบ 20 ปี ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกระดับและธุรกิจ SMEs สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและการลงทุนได้อย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ จากธนาคารของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทการเงิน (Non Bank) บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ จัดการกองทุน โบรกเกอร์ผู้ค้าทอง บริษัทเช่าซื้อรถยนต์ และหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการเงินการลงทุน อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมไปถึงรัฐวิสาหกิจและบริษัทจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ
จุรินทร์ลุยต่อเนื่อง ช่วยลดค่าครองชีพประชาชนกับ พาณิชย์ลดราคา ! ช่วยประชาชน Lot 7 ลดจริงสูงสุด 70%
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน จัดกิจกรรมลดราคาสินค้าต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชน ภายใต้โครงการ “พาณิชย์ลดราคา ! ช่วยประชาชน Lot 7” ร่วมมือผู้ผลิต ผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าส่งค้าปลีก ห้างท้องถิ่น ทั่วประเทศ ลดราคาสินค้ากว่า 13,700 รายการ ลดสูงสุด 70%
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ทำให้ประชาชนยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ จึงดำเนินการช่วยเหลือ
การลดค่าครองชีพประชาชนกับโครงการ “พาณิชย์ลดราคา ! ช่วยประชาชน” ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการ “พาณิชย์ลดราคา ! ช่วยประชาชน” Lot 1-6 มาแล้ว โดยใน Lot 1 ลดราคาสินค้า 72 รายการ ลดสูงสุด 58% Lot 2 ลดราคาสินค้า 3,025 รายการ ลดสูงสุด 68% Lot 3 ห้างท้องถิ่น ลดราคาสินค้า 4,845 รายการ ลดสูงสุดถึง 68% Lot 4 ลงลึกระดับอำเภอ 878 อำเภอทั่วประเทศ ลดราคาสินค้าร่วม 7,158 รายการ ลดสูงสุด 68% Lot 5 Back To School นำสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน สื่อการเรียนการสอน ทั้งหมด 1,605 รายการ ลดสูงสุดถึง 80% ส่วน Lot 6 “ซื้อง่าย ถูกใจ ใกล้บ้าน” ลดราคาผ่านร้านค้าส่งค้าปลีก ร้านกองทุนหมู่บ้าน ร้านชุมชน นำสินค้ากว่า 400 รายการ ลดสูงสุด 50% และได้รับผลการตอบรับที่ดีจากประชาชนเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน จึงดำเนินโครงการต่อเนื่องภายใต้กิจกรรม พาณิชย์ลดราคา ! ช่วยประชาชน Lot 7 ทั้งนี้ได้ร่วมมือกับผู้ผลิต-ผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศและห้างท้องถิ่นทุกภาคทั่วประเทศไทย รวม 104 ราย โดยมีสินค้าเข้าร่วมรายการลดราคาทั้งหมด 6 กลุ่มสินค้า ประกอบด้วย 1.อาหารและเครื่องดื่ม 2.อาหารปรุงสำเร็จแช่แข็ง 3.ซอสปรุงรส 4.ของใช้ประจำวัน 5.ผลิตภัณฑ์ชำระร่างกาย 6.ผลิตภัณฑ์ซัก-ล้าง มีสินค้าลดราคาเพิ่มขึ้นเป็น 13,790 รายการ ลดสูงสุด 70% อาทิ ผงซักฟอก สบู่อาบน้ำชนิดเหลว เจลล้างมือ การดำเนินโครงการดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2563 คาดว่าจะสามารถช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนทั่วทั้งประเทศคิดเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ตลอดโครงการ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
นำ กระทรวงพาณิชย์เปิดโครงการช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ คือโครงการพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน ล็อตที่ 7 ลดสูงสุด 70% ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid – 19) รวมทั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยได้ร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ และห้างท้องถิ่น
นายจุรินทร์ นำจัดงานพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน เพื่อลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค มาแล้วถึง 6 ครั้ง ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมลงลึกถึงระดับหมู่บ้าน ซึ่งสามารถช่วยลดค่าครองชีพให้ผู้บริโภคในวงกว้างได้อย่างแท้จริง สำหรับงานวันนี้ “พาณิชย์ลดราคา ! ช่วยประชาชน” LOT 7 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 รวมระยะเวลา 30 วัน ในครั้งนี้ มีการจำหน่ายสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม อาหารปรุงสำเร็จแช่แข็ง ซอสปรุงรส ของใช้ประจำวัน ผลิตภัณฑ์ชำระร่างกาย ผลิตภัณฑ์ซักล้าง รวมกว่า 13,700 รายการ ลดราคาสูงสุดถึงร้อยละ 70 ซึ่งคาดว่าสามารถช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชนได้ประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยให้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นไปด้วย
" ขอขอบคุณ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการจัดงานขึ้นครั้งนี้ขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการจัดงานที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติแบบนี้ในโอกาสต่อไปด้วย" นายจุรินทร์ กล่าว
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดภูเก็ต นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและยางพาราวงเงินรวมทั้งสิ้น 61,900.82 ล้านบาท ดังนี้ สินค้าข้าว วงเงินรวม 51,858 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการประกันรายได้ ปี2563/64 มาตรการคู่ขนานและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยโครงการประกันรายได้ ปี 2 กำหนดราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกรเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ปริมาณไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ปริมาณไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ปริมาณไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ปริมาณไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ปริมาณไม่เกิน 16 ตัน ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 - พฤษภาคม 2564
ส่วนมาตรการคู่ขนานควบคู่กับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 ได้แก่ (1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (ระยะเวลาดำเนินการ 1 พฤศจิกายน 2563 – 29 กุมภาพันธ์ 2564) โดยนอกจากเกษตรกรจะได้รับสินเชื่อและไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแล้ว เกษตรกรที่มียุ้งฉางจะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท กรณีสหกรณ์จะได้รับตันละ 1,000 บาท และสมาชิกจะได้รับ ตันละ 500 บาท (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ระยะเวลาดำเนินการ 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564) โดยสหกรณ์เสียดอกเบี้ยร้อยละ 1 และ (3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ระยะเวลาดำเนินการ 1 พฤศจิกายน 2563 – 31 มีนาคม 2564 ให้ผู้ประกอบการเก็บข้าวไว้ระยะเวลา 2-6 เดือน และจะได้รับชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ซึ่งจะสามารถดูดซับอุปทานในช่วงที่ข้าวเปลือกออกสู่ตลาดมากเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 7 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพช่วยให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณในการชดเชยตามโครงการประกันรายได้
โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 จะเริ่มเดือนพฤศจิกายน 2563 เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ช่วยให้เกษตรกรมีกำลังใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว โดยในช่วงแรกเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณของรัฐบาล จะจ่ายเงินให้เกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ในรอบแรกเบื้องต้น อัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ ก่อน และในช่วงต่อไปจะได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอ ครม.เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมต่อไป
ด้านเกษตรกรชาวสวนยาง ในโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางปี 2 ได้รับการอนุมัติเช่นกัน โดยกำหนดราคาประกันรายได้ ยางแผ่นดิบ กก.ละ 60 บาท น้ำยางสด กก.ละ 57 บาท ยางก้อนถ้วย กก.ละ 23 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ ให้คนกรีด ร้อยละ 40 และเจ้าของสวนร้อยละ 60 วงเงิน 10,042 บาท ระยะเวลาดำเนินการเดือนตุลาคม 2563 - มีนาคม 2564 แต่ระหว่างนี้ยางพาราราคาดีดตัวสูงขึ้นทะลุรายได้ที่ประกันไว้สร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกรชาวสวนยางเป็นอย่างมากแต่โครงการประกันรายได้เกษตรกรก็อยากเดินหน้าเพื่อเป็นหลักประกันว่าถ้าราคาตกลงมาเกษตรกรก็จะอยู่รอดด้วยการประกันรายได้ที่ได้รับการอนุมัตินี้