
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างความเข็มแข็งด้านเศรษฐกิจของประเทศในทุกมิติ โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนไปจนถึงการเร่งผลักดันเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและการค้าระหว่างประเทศซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนเพื่อช่วยเหลือประชาชนในทุกระดับซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการนำ Big Data มาใช้ประโยชน์เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การจัดทำยุทธศาสตร์ การทำแผนงานโครงการและการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งการปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศไทย 4.0
เพื่อตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลและการเปลี่ยนแปลงของโลการค้าภายใต้ยุคดิจิทัล กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลด้านเศรษฐกิจการค้าของประเทศก็ได้มุ่งให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของไทยให้มีความเข้มเข็งอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และส่วนหนึ่ง คือ การผลักดันการใช้ Big Data เพื่อยกระดับการทำงานของกระทรวงสู่อนาคต กระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการ Big Data เพื่อทำหน้าที่บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการค้าที่เกี่ยวข้องทั้งจากภายในและภายนอกกระทรวง มีแนวความคิดในการจัดทำ Big Data ออกเป็น 3 เรื่อง ได้แก่ (1) การจัดทำ Big Data เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริหาร (2) อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ (3) ลดขั้นตอนการและความซ้ำซ้อนในการทำงานของกระทรวง โดยได้วางแนวทางการพัฒนาออกเป็น 2 ระยะ
ระยะที่ 1 บูรณาการข้อมูลการค้า ทั้งภายในประเทศ และการค้าระหว่างประเทศ ประกอบด้วย 2 มิติ
มิติที่ 1. “สร้าง” อาชีพรายพื้นที่ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจฐานราก
กระทรวงพาณิชย์ มีเป้าหมายในการนำเสนออาชีพที่สอดคล้องกับศักยภาพและวิถีความเป็นอยู่ให้กับประชาชนในแต่ละจังหวัด โดยได้นำข้อมูลที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ ตั้งแต่ GPP ของจังหวัด จำนวนประชากร จำนวนนักท่องเที่ยว ประเภทธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ ที่จัดตั้งใหม่ รวมถึงงบการเงินของธุรกิจในแต่ละประเภท มาประมวลผล ให้ทราบถึง โอกาสและความเสี่ยง ในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจ ที่เหมาะสมในแต่ละจังหวัด เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการทั่วไป สามารถตัดสินใจเริ่มต้นทำธุรกิจ หรือขยายกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มิติที่ 2. “ส่งเสริม” การค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมาย
กระทรวงพาณิชย์ ได้ “บูรณาการข้อมูลจาก 5 หน่วยงานด้านการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กรมศุลกากร ประกอบด้วย สถิติการส่งออกและนำเข้า เขตการค้าเสรี สิทธิพิเศษทางภาษี การค้าชายแดน และข้อมูลเชิงลึกจากทูตพาณิชย์ 58 แห่งทั่วโลก ให้เป็นพลังข้อมูลที่มีคุณค่า ผ่านการแสดงผลบน “จอตารางอัจฉริยะ” ที่ไม่เคยมีหน่วยงานใด ที่เกี่ยวข้องกับด้านการค้าระหว่างประเทศ เคยทำมาก่อน ผู้บริหารจะสามารถติดตาม การวิเคราะห์สถานการณ์การค้า แบบ Real Time ผ่านสัญญาณสีเขียวแดง เพื่อบ่งบอกระดับการเฝ้าระวัง ส่งผลให้ สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์การค้าของไทย ให้เป็นไปตามเป้าหมายได้อย่างทันท่วงที
ระยะที่ 2 : มุ่งสู่อนาคตด้านเทคโนโลยี (พ.ศ. 2562 – 2563)
ในปีนี้กระทรวงพาณิชย์ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาโดยการนำเทคโนโลยี AI และ Machine Learning มาคาดการณ์ “โอกาสและความเสี่ยง” ด้านการค้าระหว่างประเทศ อาทิเช่น ภาวะสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐฯ กับ จีน จอตารางอัจฉริยะ จะแสดงให้เห็นถึง สัญญาณเฝ้าระวังการส่งออกยางพาราของไทย ไปยังจีนที่ลดลง พร้อมข้อมูลจากทูตพาณิชย์ ที่แสดงสาเหตุว่า เกิดจากการกีดกันการนำเข้ายางพาราของจีน จากอุตสาหกรรมผู้ผลิตยางรถยนต์ของสหรัฐ ในขณะเดียวกัน จอตารางอัจฉริยะ ก็จะแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ยางพาราของไทยจะได้รับผลกระทบแต่โอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดจีน ยังคงมีอยู่มาก โดยควรมุ่งเน้นที่สินค้าอาหาร ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสูงกว่าร้อยละ 7 ของมูลค่าการส่งออกของประเทศ
ข้อมูลเหล่านี้ จะส่งผลให้ กระทรวงพาณิชย์ สามารถวางแผน และกำหนดกลยุทธ์การส่งออก ได้อย่างชัดเจน และทันต่อสถานการณ์ ดังนั้น การคาดการณ์โอกาสของสินค้าไทย ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร จะเป็นข้อมูลอัจฉริยะ ที่จะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทย ในตลาดโลก อย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นเป้าหมายของการพัฒนาเทคโนโลยี ของกระทรวงพาณิชย์ในปีนี้
กระทรวงพาณิชย์ได้ตอบสนอต่อนโยบายด้าน Big Dataของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งนี้ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจของไทยให้เกิดความเข็มแข็งอย่างยั่งยืน ตั้งแต่การกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก ไปจนถึงการผลักดันค้าระหว่างประเทศของไทย