‘ภูมิธรรม’ พบเอกอัครราชทูตอียู หารือนโยบายสิ่งแวดล้อม ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประมง และมาตรฐานการนำเข้าสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ของไทย เดินหน้าเจรจา FTA มุ่งปฏิบัติตามกฎระเบียบการค้าใหม่ๆ ที่คำนึงถึงข้อเท็จจริง ความยืดหยุ่น และระยะเวลาการปรับตัว รวมทั้งช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้พบหารือกับนายเดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ กระทรวงพาณิชย์ โดยมีนางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทยเข้าร่วมด้วย ซึ่งการหารือครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า ไทยกับสหภาพยุโรป (อียู) เป็นพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์อันดีในทุกด้านมาอย่างยาวนาน และ FTA ไทย-อียู ที่อยู่ระหว่างการเจรจาจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน รวมทั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นการค้าสำคัญอื่นๆ อาทิ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม แนวทางการจัดการด้านประมง และมาตรฐานการนำเข้าสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ของไทย โดยไทยเห็นด้วยกับแนวโน้มและทิศทางของโลกปัจจุบัน ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประมง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกประเทศต้องรับผิดชอบร่วมกัน และไทยมีนโยบายไปในทิศทางดังกล่าว ทั้งนี้ สำหรับการเจรจาจัดทำ FTA และการปฏิบัติตามกฎระเบียบการค้าใหม่ๆ ควรดำเนินการร่วมกันอย่างฉันมิตร คำนึงถึงข้อเท็จจริงและระดับความแตกต่าง มีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติตาม และระยะเวลาการปรับตัวของแต่ละประเทศ รวมทั้งควรมีความร่วมมือและให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ที่ยั่งยืนร่วมกันของทุกฝ่าย
ทั้งนี้ อียูเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย โดยในช่วง 9 เดือน (ม.ค. - ก.ย. 2566) การค้าระหว่างไทยและอียู มีมูลค่า 31,762.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,090,015.10 ล้านบาท) ขยายตัว 2.16% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนการค้ารวม 7.35% ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 16,595.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (566,022.91 ล้านบาท) ลดลง 4.46% และไทยนำเข้าจากอียู มูลค่า 15,166.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (523,992.19 ล้านบาท) ขยายตัว 10.42% สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ