นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในงานเปิดตัวมิติใหม่ Digital Trade บริการส่งออกสินค้ามาตรฐาน “OCS Connect Kick Off” เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยมีนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ กรมศุลกากร และหน่วยงานภาคเอกชนเข้าร่วมอย่างคับคั่ง
นายพิชัยฯ เผยในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการผลักดันหน่วยงานภาครัฐสู่รัฐบาลดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และการบริการประชาชน” สำหรับกระทรวงพาณิชย์ก็เช่นเดียวกัน ได้มอบนโยบายแก่หน่วยงานในสังกัดให้ความสำคัญต่อการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส เน้นการลดค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนนำเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาเสริม สร้างศักยภาพการค้าให้เป็นรูปธรรม พัฒนายกระดับการอำนวยความสะดวกด้านเศรษฐกิจการค้าแก่ผู้รับบริการ รวมถึงการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และวันนี้กรมการค้าต่างประเทศถือเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ในการพัฒนาการให้บริการภาครัฐ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบการให้บริการส่งออกสินค้ามาตรฐาน “OCS Connect” ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเต็มรูปแบบ 100% พลิกโฉมการให้บริการด้านการส่งออกสินค้าที่ผู้ประกอบการไม่ต้องมาติดต่อในรูปแบบ No Visit สนับสนุนนโยบายรัฐบาลต่อการผลักดันหน่วยงานภาครัฐสู่รัฐบาลดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และการบริการประชาชนยกระดับการให้บริการภาครัฐและอำนวยความสะดวกทางการค้าในรูปแบบ Digital Trade บนระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ (e-Customs) มุ่งเน้นให้เกิดความคล่องตัวในการส่งออกสินค้ามาตรฐาน โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิไทย และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญที่สร้างมูลค่าการค้าปีละกว่า 285,000 ล้านบาท
ระบบ “OCS Connect” ครอบคลุมการให้บริการตั้งแต่การออกใบทะเบียน/ใบอนุญาต การตรวจสอบมาตรฐานสินค้า จนกระทั่งการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าเพื่อประกอบพิธีการศุลกากรขาออกผ่านระบบ National Single Window (NSW) ที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว และเบ็ดเสร็จในแพลตฟอร์มเดียว โดยผู้ประกอบการไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ามาติดต่อ เพราะมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดเอกสารที่ซ้ำซ้อน ลดขั้นตอนการดำเนินงานที่ไม่จำเป็น และรองรับการชำระค่าธรรมเนียมในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ e-Payment ได้ทันที ถือได้ว่าเป็นอีกก้าวสำคัญของกรมการค้าต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ในการอำนวยความสะดวกทางการค้า ลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยในการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยระบบดังกล่าวสามารถช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการกว่า 1,150 ราย ถึงปีละกว่า 30.5 ล้านบาท ช่วยลดระยะเวลาในการขอรับบริการจาก 29 วัน เหลือไม่เกิน 30 นาที ทำให้ผู้รับบริการได้รับประโยชน์สอดคล้องกับนวัตกรรมการบริการของภาครัฐบน 4 หลักการสำคัญ คือ บริการเร็วขึ้น (Faster) บริการที่ง่ายขึ้น (Easier) ค่าใช้จ่ายบริการที่ถูกลง (Cheaper) และบริการที่ทันสมัยมากขึ้น (Smarter) ส่งผลให้กรมฯ ได้รับ “รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ” ประเภทยกระดับการอำนวยความสะดวกในการให้บริการ ประจำปี 2567 “ระดับดีเด่น” จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) อันเป็นการผลักดันการดำเนินงานตามนโยบายการปรับลดขั้นตอนการให้บริการภาครัฐ
กระทรวงพาณิชย์พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขจัดอุปสรรค และเปิดประตูสู่โอกาสทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับ ควบคู่กับการยกระดับการให้บริการภาครัฐด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม รองรับและเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ นายพิชัยฯ กล่าวทิ้งท้าย