MOC 103 Years

Header Image
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อนโครงการ “สมาร์ทโชห่วย พลัส” ในวันพุธที่ 10 สิงหาคม 2565 ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 กระทรวงพาณิชย์
watermark

          นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนโครงการ ‘สมาร์ทโชห่วย พลัส’ โดยมีนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และผู้แทนหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน 6 องค์กร รวม 28 หน่วยงาน ลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการฯ ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์ ว่า “วันนี้เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนโครงการ สมาร์ทโชห่วย พลัส ซึ่งเป็นโครงการฯ ที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับประชาชน และธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมาก โดยการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ มีเป้าหมายร่วมกันเพื่อผลักดันและพัฒนาร้านค้าโชห่วยให้เป็น ‘สมาร์ทโชห่วย’ ครอบคลุมทั่วประเทศ สร้างโอกาสทางการค้าและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ ทั้งการแข่งขันที่รุนแรงในยุคดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยกระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรวางกรอบแนวทางการพัฒนาร้านค้าโชห่วยทุกมิติทั้งระบบ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่ง นำธุรกิจเข้าสู่ช่องทางการขายในแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมทั้ง ให้การส่งเสริมสนับสนุนภารกิจทุกด้าน มุ่งหมายให้โชห่วยไทยเติบโตด้วยความมั่นคงและอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนาน 
          พันธมิตรที่เข้าร่วมลงนามฯ ประกอบด้วย 6 องค์กร ได้แก่ 1) สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย 2) ผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่าย (Suppliers) 3) ผู้ให้บริการเทคโนโลยี/ระบบ POS/แพลตฟอร์ม 4) ผู้ให้บริการเสริม 5) กลุ่มสถาบันการเงิน 6) เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club THAILAND และ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งสิ้น 28 หน่วยงาน ทั้งนี้ โครงการ ‘สมาร์ทโชห่วย พลัส’ ตั้งเป้าขับเคลื่อนโครงการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565 - 2569) โดยยกระดับและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เดินหน้าจัดกิจกรรมเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการและนำองค์ความรู้มาพัฒนาต่อยอดเพื่อผลักดันร้านค้าปลีกดั้งเดิมให้เป็น ‘สมาร์ทโชห่วย’ ที่มีภาพลักษณ์ร้านค้าที่ดี มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการร้านค้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตลอดจนการมีช่องทางออนไลน์เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด โดยมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ดึงเอาเอกลักษณ์และคุณสมบัติเด่นของร้านค้าโชห่วยขึ้นมาเป็นจุดเด่นเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน
          นอกจากนี้ ยังได้คัดเลือกร้านค้าส่งค้าปลีกที่ได้รับการพัฒนาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทั่วประเทศ จำนวน 246 ร้านค้า ให้เป็นร้านค้าต้นแบบ และเป็นพี่เลี้ยงผลักดันให้ร้านโชห่วยเครือข่ายที่อยู่ในท้องถิ่นเดียวกันได้รับการพัฒนาเป็น สมาร์ทโชห่วย โดยตั้งเป้าหมายไว้ คือ ร้านค้าต้นแบบ 1 ร้าน พัฒนาและผลักดันให้ร้านโชห่วยเครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่เป็น สมาร์ทโชห่วย 3 ร้าน เบื้องต้น คาดว่าจะสามารถเพิ่มร้านสมาร์ทโชห่วยได้อีกจำนวน 738 ร้านค้า 
          ร้านโชห่วยท้องถิ่นที่ได้รับการพัฒนาจนเป็นร้านสมาร์ทโชห่วยจะได้รับตราสัญลักษณ์ ‘สมาร์ทโชห่วยพลัส by DBD และเพื่อน’ ติดไว้บริเวณหน้าร้าน เพื่อแสดงถึงศักยภาพของร้านโชห่วยท้องถิ่นที่ได้รับการพัฒนาและยกระดับให้เป็นร้านสมาร์ทโชห่วย และได้ผ่านการอบรมความรู้ศาสตร์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการร้านค้า พัฒนาร้านค้าให้มีความสวย สว่าง สะอาด สะดวก สบาย ซึ่งจะช่วยดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้าน และช่วยเพิ่มยอดขาย ตลอดจน มีสิทธิเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ในการช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชน
          โครงการสมาร์ทโชห่วย พลัส เป็นโครงการที่ต่อยอดจาก โครงการสมาร์ทโชห่วย โดยจะดำเนินการคู่ขนานกันไป ผ่านกลไกการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนกลางและระดับพื้นที่ โดยมีกิจกรรมการพัฒนาที่หลากหลายครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การเสริมสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือกับร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบที่ได้รับการพัฒนาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือ พี่เลี้ยงโชห่วย และมีสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดช่วยติดตามการดำเนินงานและให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด 
          สมาร์ทโชห่วย พลัส ขับเคลื่อนโครงการระยะเวลารวม 5 ปี (พ.ศ. 2565 - 2569) โดยปี 2565 กำหนดเสริมสร้างองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการโชห่วยทั่วประเทศ 3,000 ราย และสร้างสมาร์ทโชห่วย 300 ราย ปี 2566 ตั้งเป้าหมายเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าโชห่วย 3,000 ราย และสร้างสมาร์ทโชห่วย 400 ราย และในระยะ 5 ปี คาดว่าจะมีผู้ประกอบการโชห่วยที่ได้รับการเสริมสร้างองค์ความรู้รวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 20,000 ราย และได้รับการพัฒนาเป็นสมาร์ทโชห่วย 2,500 ราย โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการขยายเครือข่ายพันธมิตรที่มีศักยภาพเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้และสิทธิประโยชน์ รวมทั้งพัฒนาร้านค้าโชห่วยให้เป็นตัวกลางเชื่อมโยงโครงการต่างๆ จากภาครัฐสู่ประชาชนให้ได้มากขึ้น  
ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สินิตย์ เลิศไกร ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาร้านโชห่วยและผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่กระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก    โดยร้านโชห่วยที่กล่าวมาจะมีบทบาทสำคัญในการกระจายรายได้สู่ชุมชน และเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อันจะนำไปสู่การเติบโตร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็งและมั่นคง ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่ดุเดือดของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างยั่งยืนต่อไป”
           สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนส่งเสริมธุรกิจการค้า กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 5986 e-mail:  bizpromotion.dbd@gmail.com

--------------------------------------------------------------
 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar