MOC 103 Years

Header Image
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือกับรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า นายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส (Mr.Valdis Dombrovskis) ผ่านระบบ VC เพื่อเริ่มเปิดการเจรจานับหนึ่ง FTA ไทยกับสหภาพยุโรป เมื่อวันพุธที่ 15 มีนาคม 2566 ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 ตึกสำนักงานปลัด กระทรวงพาณิชย์
watermark

          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือกับรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า นายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส (Mr.Valdis Dombrovskis) ผ่านระบบ VC เพื่อเริ่มเปิดการเจรจานับหนึ่ง FTA ไทยกับสหภาพยุโรป หลังจากที่นายจุรินทร์ได้เดินทางไปกรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมาและนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยมีนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมด้วย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 ตึกสำนักงานปลัด กระทรวงพาณิชย์
          นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของ 2 ฝ่าย ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ประกาศนับหนึ่งอย่างเป็นทางการเริ่มต้นเจรจาทำ FTA ระหว่างไทย-อียู สองฝ่าย เกิดจากความพยายามของไทยกับสหภาพยุโรปเกือบ 10 ปี แต่ติดขัดช่วงที่ผ่านมา ครั้งหลังสุดตนนำคณะเดินทางไปพบกับท่านวัลดิส ดอมบรอฟสกิส  รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้าที่กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียมเมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา มีความเห็นร่วมกันนำไปดำเนินการภายในทั้ง 2 ฝ่าย ตนได้นำเรื่องเห็นชอบผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ วันนี้ตนได้พบกับท่านดอมบรอฟสกิสอีกครั้ง ประกาศร่วมกันอย่างเป็นทางการนับหนึ่งการจัดทำ FTA ไทย-อียู ตั้งเป้าเสร็จภายใน 2 ปี คือปี ค.ศ.2025 หรือ พ.ศ.2568  หัวข้อทั้งเรื่องการค้าสินค้า บริการและการลงทุนระหว่างกัน จะเป็นประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย และไทยจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากการจัดทำ FTA ครั้งนี้ 
          ที่ชัดเจนสำหรับไทย 1.เมื่อมีผลบังคับใช้ ภาษีการส่งออกสินค้าไทยไปสหภาพยุโรป 27 ประเทศในที่สุดจะเป็นศูนย์ สามารถแข่งขันด้านราคาและมีแต้มต่อกับประเทศที่ไม่ได้ทำ FTA กับอียู เช่น ยานยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เสื้อผ้าสิ่งทอ อาหาร ยางพารา เคมีภัณฑ์และพลาสติก เป็นต้น 2.ภาคบริการ จะสร้างโอกาสในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญในภาคบริการหลายด้าน เช่น ค้าส่ง-ปลีก การผลิตอาหารและการท่องเที่ยว เป็นต้น 3.การนำเข้าวัตถุดิบภาษีก็จะเป็นศูนย์เช่นเดียวกัน ภาคการผลิตของเราจะลดต้นทุนการผลิตได้ โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์ 4.การแลกเปลี่ยนการลงทุนระหว่างกันของทั้ง 2 ฝ่าย ไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม 5. จะมีส่วนสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกมาลงทุนในไทย เพิ่มตัวเลขการลงทุน เพิ่มจีดีพีให้ประเทศ 6.ทำให้ไทยเพิ่มจำนวน FTA มากขึ้นจากปัจจุบันมี 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ
          จะเพิ่มเป็น 15 ฉบับกับ 45 ประเทศในทันทีที่มีผลบังคับใช้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียนที่สหภาพยุโรป 27 ประเทศตกลงทำ FTA ด้วย (มีเวียดนามและสิงคโปร์ ที่มี FTA กับอียูแล้ว)
          “โดยสหภาพยุโรป 27 ประเทศ มีประชากรรวมกันประมาณ 500,000,000 คน เป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 4 ของไทย มีสัดส่วนมูลค่าการค้ากับไทย 7% ที่ไทยค้ากับโลก ตัวเลขการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปปี 2566 ประเทศไทยได้ดุลถึง 150,000 ล้านบาท การทำ FTA กับอียู ที่ได้นับหนึ่งอย่างเป็นทางการในวันนี้ ถือเป็นวันประวัติศาสตร์เป็นประโยชน์อย่างยิ่งไทยและกับอียูเช่นเดียวกันในหลากหลายมิติ ถัดจากนี้จะเริ่มต้นการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสในเดือนกรกฎาคมปีนี้ โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพครั้งแรก และเมื่อได้ข้อตกลงครบทุกหัวข้อประเทศไทยจะนำเข้าที่ประชุมรัฐสภาต่อไป เพื่อให้สัตยาบัน ฝั่งอียูก็ดำเนินการทางฝั่งอียูเช่นเดียวกัน และจะลงนามบังคับใช้ได้  คือการสร้างเงิน สร้างอนาคตครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งให้กับประเทศไทย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะเป็นเจ้าภาพหลักในการเจรจา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว RCEP ก็จบในยุคที่ตนกับอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ(นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม) ทำหน้าที่ รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ยุคนี้” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar